แบ่งปัน

 

กองทัพเรือ แถลงข่าวจัดซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำ ประจำการกองทัพงบ 13,500 ล้านบาท

พลเรือเอก ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ มอบหมายให้ พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ พร้อมคณะมี พลเรือเอก จุมพล ลุมพิกานนท์ หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา(โฆษกกองทัพเรือ) พลเรือโท พัชระ พุ่มพิเชฏฐ์ รองเสนาธิการทหารเรือ พลเรือตรี กฤษฎาภรณ์ พันธุมโพธิ ผอ.สนง.จัดหายุทโธปกรณ์กองทัพเรือ และพลเรือตรี วิศาล ปัณฑวังกูร ผู้บัญชาการกองเรือดำน้ำ ร่วมแถลงข่าวชี้แจงโครงการจัดหาเรือดำน้ำอย่างเป็นทางการต่อสื่อมวลชน ณ เรือหลวงจักรีนฤเบศร ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

 

พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ กล่าวว่า จากการที่กองทัพเรือมีหน้าที่ในการปกป้องอธิปไตยและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ที่มีมูลค่ากว่า 24 ล้านล้านบาท และสินค้านำเข้าส่งออกร้อยละ 95 ต้องใช้เส้นทางคมนาคมทางทะเล กองทัพเรือจึงต้องมีการวางแผนพัฒนากำลังรบ เพื่อเตรียมความพร้อมของกำลังทางเรือ ในการปฏิบัติภารกิจดังกล่าว ทั้งนี้ ความต้องการเรือดำน้ำเป็นไปตามการประเมินยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ อาจกล่าวได้ว่า การจัดหาเรือดำน้ำแท้จริงไม่ใช่ความต้องการของกองทัพเรือเท่านั้น แต่เป็นความจำเป็นของประเทศชาติ เพราะเป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์ของประเทศ และอาวุธทางยุทธการของกองทัพไทย

 

การดำเนินโครงการจัดหาเรือดำน้ำครั้งนี้ ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 มีการศึกษาเปรียบเทียบข้อเสนอจากบริษัทผู้ผลิตเรือดำน้ำจาก 6 ประเทศทั่วโลก บางประเทศก็ให้เฉพาะตัวเรือไม่มีระบบอาวุธ บางประเทศให้ทั้งตัวเรือและระบบอาวุธ แต่ก็มีราคาสูงอะไหล่ในการซ่อมบำรุงแพงมาก บางประเทศไม่สนับสนุนการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ ซึ่งกองทัพเรือได้พิจารณาคัดเลือกอย่างรอบคอบ โดยยึดหลักการจัดหายุทโธปกรณ์ที่สำคัญ 3 ประการ คือ ขีดความสามารถและความพร้อมตามความต้องการ ความต่อเนื่องตลอดอายุการใช้งาน และความสามารถในการจ่ายได้ ซึ่งข้อเสนอของสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการสร้างเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้า ชั้นหยวน S26T พร้อมระบบอาวุธและระบบสนับสนุนต่าง ๆ รวมทั้งการจัดหลักสูตรการฝึกอบรมให้กับกำลังพล เป็นข้อเสนอที่ตอบโจทย์ได้ตามหลักการในข้างต้นมากที่สุด

เรือดำน้ำชั้นหยวน S26T เป็นเรือดำน้ำที่ได้รับการพัฒนามาจากเรือดำน้ำชั้น KILO ของรัสเซียที่เป็นเรือดำน้ำที่มีชื่อเสียงมากในอดีต ทั้งด้านสมรรถนะและความเงียบ จีนได้นำมาพัฒนาต่อยอดโดยการวิจัยพัฒนาร่วมกับประเทศสวีเดนในการนำระบบ AIP เข้ามาใช้ในเรือดำน้ำชุดนี้ ซึ่งเป็นการเพิ่มระยะเวลาในการปฏิบัติงานใต้น้ำได้นานมากขึ้น จึงมีจุดเด่นในคุณสมบัติด้านการซ่อนพราง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ต้องการมากที่สุดของเรือดำน้ำ รวมทั้งได้มีการพัฒนาต่อยอดด้านระบบอาวุธที่มีประสิทธิภาพแม่นยำและอำนาจการทำลาย ทั้งในมิติใต้น้ำด้วยกัน มิติผิวน้ำ และข้ามไปในมิติบนฝั่ง ได้อีกด้วย ซึ่งเรือดำน้ำรุ่นนี้ ประจำการอยู่ในกองทัพเรือจีนมานานกว่า 10 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 12 ลำ ไม่เคยประสบปัญหาด้านความไม่ปลอดภัยและด้านการใช้งาน จนในปัจจุบันมีหลายประเทศให้ความสนใจสั่งซื้อเรือดำน้ำรุ่นนี้ เพื่อนำไปใช้ด้วยเช่นเดียวกัน รวมทั้งศักยภาพของกองเรือดำน้ำจีน ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าเป็นกองเรือดำน้ำที่ยิ่งใหญ่ในระดับต้น ๆ ของโลก โดยเชื่อกันว่าในปัจจุบันจีนมีเรือดำน้ำทุกประเภทรวมกันมากกว่า 50 ลำ และมีการออกปฏิบัติการจริงในทะเลมากที่สุดในโลก ซึ่งทำให้เชื่อมั่นได้ว่า เรือดำน้ำ S26T เป็นเรือที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือเพียงพอ และมีสายการผลิตและอะไหล่มากพอที่จะรองรับการปรนนิบัติบำรุงตลอดอายุการใช้งานของเรือดำน้ำได้

กองทัพเรือ ต้องการเรือดำน้ำอย่างน้อย จำนวน 3 ลำ โดยแนวทางจะใช้ปฏิบัติการหนึ่งลำ เตรียมพร้อมหมุนเวียนหนึ่งลำ และซ่อมตามวงรอบหนึ่งลำ การจัดหาครั้งนี้เป็นการจัดหาลำที่ 1 วงเงิน 13,500 ล้านบาท ใช้งบประมาณที่มีอยู่ของกองทัพเรือ ทั้งนี้ กองทัพเรือจีนยังมีความยินดีที่จะร่วมกับกองทัพเรือในการตรวจยืนยันคุณภาพในทุกขั้นตอนให้มีความเป็นมาตรฐาน ทั้งคุณภาพตัวเรือ และอาวุธประจำเรือ นอกจากนี้ กระทรวงกลาโหมจีน ยืนยันที่จะสนับสนุนด้านอาวุธที่มีความสำคัญต่อการปฏิบัติการทางยุทธการ และการฝึกเพิ่มเติมอีกเป็นจำนวนมาก นับว่าเป็นประโยชน์ต่อความพร้อมในการทำสงครามใต้น้ำอย่างมาก

สำหรับงบประมาณที่จะใช้ในการจัดหาเรือดำน้ำครั้งนี้ จำนวน 13,500 ล้านบาท กองทัพเรือใช้งบประมาณของกองทัพเรือที่ได้รับปกติในแต่ละปี โดยจะแบ่งผ่อนชำเป็นระยะเวลา 7 ปี โดยจะแบ่งจ่ายเป็นงวดตามความก้าวหน้าในการสร้างเรือ โดยจะมีงวดการชำระเงินทั้งหมด 17 งวด ในปี 2560 จำนวน 700 ล้านบาท ส่วนปี 2561 – 2566 จะชำระเงินเฉลี่ยปีละ 2,100 ล้านบาท โดยไม่เป็นภาระงบประมาณของประเทศ และไม่มีผลกระทบกับการใช้งบประมาณด้านอื่น ๆ ของกองทัพเรือ ที่ล้วนมีความโปร่งใสทุกกระบวนการ

เรือดำน้ำแบบ S26T มีข้อดี คือ สามารถซ่อนพรางตัวได้นานกว่า เรือดำน้ำแบบธรรมดาที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ อยู่ใต้น้ำได้นานกว่าถึง 5 เท่า เนื่องจากมีการติดตั้งระบบขับเคลื่อนที่ไม่ใช้อากาศจากภายนอก หรือระบบ AIP (Air Independent Propulsion System) หรือหมายถึงไม่ขึ้นมาหายใจ แต่สามารถเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขณะดำอยู่ใต้น้ำได้ เนื่องจากใช้ออกซิเจนจากถังเก็บที่นำไปกับเรือด้วย ทำให้ได้เปรียบต่อฝ่ายตรงข้าม เพราะสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของกำลังทางเรือฝ่ายตรงข้ามได้

ด้านระบบอาวุธที่มีหลากหลายและรุนแรง โดยทั่วไปอาวุธหลักของเรือดำน้ำ คือ ตอร์ปิโด แต่เรือรุ่นนี้สามารถยิงอาวุธปล่อยนำวิถีใต้น้ำสู่พื้นหรือสู่เป้าหมายบนฝั่ง รวมทั้งยังออกแบบให้สามารถวางทุ่นระเบิด ทำให้กองทัพเรือจะมีขีดความสามารถในการสู้รบเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมากจากการได้รับอาวุธทั้ง 3 ชนิด

ด้านความปลอดภัย ตัวเรือได้ออกแบบให้แบ่งเป็นห้องหรือ Compartment ย่อย ๆ ที่กันน้ำ เมื่อมีเหตุการณ์น้ำเข้าเรือห้องใดห้องหนึ่ง เรือก็ยังมีแรงลอยตัวสำรองมากพอที่สามารถนำเรือขึ้นสู่ผิวน้ำได้ นอกจากนี้ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นในห้องใดห้องหนึ่ง กำลังพลของเรือก็ยังสามารถย้ายไปยังห้องอื่น เพื่อรอคอยความช่วยเหลือจากยานกู้ภัยเรือดำน้ำหรือจากหน่วยที่ให้ความช่วยเหลือ

ด้านการฝึกอบรมชุดแรกในชุดรับเรือ ได้รับการฝึกอบรมจากกองทัพเรือสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีประสบการณ์การฝึกอบรมมากว่า 60 ปี มีการเรียนรู้จากอุปกรณ์จริง ให้เกิดความคุ้นเคย เพื่อสามารถปฏิบัติการได้ ทั้งการขับเคลื่อนตัวเรือ และการใช้อาวุธประจำเรือ ในระยะเวลาการฝึกอบรมทั้งสิ้นประมาณ 2 ปี

ด้านการดูแลรักษาที่ต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากการรับประกันหลังการส่งมอบระยะเวลา 2 ปี ที่บริษัทอื่นไม่ได้เสนอแล้ว การรับประกันเปลี่ยนอะไหล่ที่ชำรุด ในวงรอบ 8 ปี ที่รวมการสนับสนุนอะไหล่ที่ต้องการสำหรับการทำการตรวจสภาพเรือตามวงรอบถึง 5 ครั้ง (3 Dock check และ 2 Minor overhaul) ในช่วงดังกล่าวด้วย รวมทั้งการสนับสนุนเจ้าหน้าที่เทคนิคมาประจำที่กองเรือดำน้ำ ตลอดช่วงเวลารับประกันเป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการเริ่มต้นของการมีเรือดำน้ำเข้าประจำการของกองทัพเรืออีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ กองทัพเรือ ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการจะจัดหาเรือดำน้ำมาประจำการ จึงได้มีการเตรียมงานเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอาคารกองบัญชาการกองเรือดำน้ำ การสร้างอาคารที่พักสำหรับกำลังพล การจัดส่งกำลังพลไปฝึกอบรมด้านเรือดำน้ำในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สาธารณรัฐเกาหลี และสหรัฐอเมริกา การเข้าประชุมสัมมนาต่างๆ ทั้งในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก และยุโรป การจัดส่งกำลังพลร่วมฝึกและสังเกตการณ์ฝึกในเรือดำน้ำ การส่งคณะไปแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลกับกองเรือดำน้ำประเทศต่าง ๆ รวมทั้ง ได้จัดหาเครื่องฝึกศูนย์ยุทธการเรือดำน้ำ เพื่อเป็นการศึกษา ทบทวน ความรู้ให้กับกำลังพล และทดสอบ ทดลองยุทธวิธีเรือดำน้ำ

และจากข้อมูล การพัฒนากำลังรบของประเทศในแถบอาเซียน ที่มีเขตแดนติดกับประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศมาเลเซีย จะมีเรือผิวน้ำติดอาวุธปล่อยนำวิถี 20 ลำ เรือดำน้ำ 2 ลำ ประเทศสิงคโปร์ จะมีเรือผิวน้ำติดอาวุธปล่อยนำวิถี 12 ลำ เรือดำน้ำ 6 ลำ ประเทศเวียดนาม จะมีเรือผิวน้ำติดอาวุธปล่อยนำวิถี 20 ลำ เรือดำน้ำ 6 ลำ และประเทศเมียนมา จะมีเรือผิวน้ำติดอาวุธปล่อยนำวิถี 38 ลำ เรือดำน้ำ 4 ลำ

ณัฐภูมินทร์ – พัชรพล ปานรักษ์ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี