แบ่งปัน

กรมเจ้าท่าจัดประชุมติดตามการแจ้งข้อกฎหมาย กับผู้ที่ปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนลุกล้ำน่านน้ำไทยพื้นที่สาธารณะ เกี่ยวกับพระราชบัญญัติฉบับใหม่ที่ 17/2560

ที่ห้องประชุมทัพพระยา ศาลาว่าการเมืองพัทยา นาย วิเชียร พงษ์พาณิช รองนายกเมืองพัทยา เป็นประธานเปิดประชุมติดตามการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ กับพี่น้องประชาชนที่มีสิ่งปลูกสร้าง อาคารบ้านเรือนลุกล้ำน่านน้ำพื้นที่สาธารณะ ทะเล แม่น้ำ ลำคลอง โดยมี นาย เอกราช คันทโร ผู้อำนวยการกรมเจ้าท่าสาขาพัทยา เป็นผู้แจงข้อกฎหมายของกรมเจ้าท่า ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ส่วนราชการ อำเภอบางละมุง เมืองพัทยา และชาวบ้านกว่า 300 คน เข้าร่วมประชุมรับฟังกันเป็นจำนวนมาก

สำหรับการประชุมครั้ง เป็นการติดตามและประชาสัมพันธ์ หลังจากที่กรมเจ้าท่า ได้รับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ฉบับที่ 32/2560 โดยมีคำสั่งให้ผู้ที่มีอาคารสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ตามริมคลอง ริมทะเล ให้แจ้งรายชื่อต่อกรมเจ้าท่า โดยกำหนดครั้งแรก ภายในวันที่ 23 ก.พ.2560 หากไม่สามารถยื่นได้ทันตามเวลา ทาง คสช. ได้ยืดระยะเวลาออกมาผ่อนผันให้อีก 120 วัน และขยายเวลาแจ้งการฝ่าฝืนการปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำอีก 60 วันในระหว่างวันที่ 4 ก.ค. – 1 ก.ย.2560

โดยหลังจากที่มีการประชุมชี้แจงข้อกฎหมายที่ผ่านมา พบว่ามีชาวบ้านที่กระทำผิดฝ่าฝืนมายื่นเอกสารทั้งสิ้น 1,307 ราย ซึ่งทางกรมเจ้าท่ายืดเวลาในห้วงที่ 3 ออกไปอีก 180 วัน โดยจะหมดเขตยื่นเอกสารภายใน 30ธันวาคม พ.ศ. 2560 นี้ เพื่อกรมเจ้าท่าจะพิจารณาตามหลักฐานที่นำมาแสดงให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ส่วนกรณีที่ผู้ไม่มายื่นเอกสารต่อกรมเจ้าท่าแล้วพบว่าผิดจริง จะมีคำสั่งลื้อถอนทันที ถ้ากรณีไม่ปฏิบัติตาม จะมีโทษจำคุก 3 ปี ปรับรายวันละ20,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ที่มายื่นเอกสารแจ้งรายชื่อตามวันเวลาที่กำหนดไป ก็จะได้ยกเว้นโทษทางอาญาและโทษปรับทางปกครอง

สำหรับผู้ที่จะเข้าแจ้งยื่นหนังสือเอกสารต้องมีหลักฐานประกอบคือ 1.ทะเบียนบ้าน 2.เอกสารติดตั้งน้ำประปาหรือไฟฟ้านับตั้งแต่วันที่เข้าอยู่ 3. ใบรับรองจากผู้ว่าราชการหรืออำเภอเพื่อยืนยันว่าพักอาศัยอยู่ในชุมชนนี้จริง 4. ภาพถ่ายทางอากาศยืนยันสิ่งปลูกสร้างในสมัยตั้งแต่เริ่มเป็นชุมชนวิถีชีวิตชาวบ้าน

เมื่อทางกรมเจ้าท่ารับเอกสารหนังสือของท่านแล้ว จะลงสำรวจพื้นที่ เพื่อตรวจสอบสิ่งที่ปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนนั้น ต้องผ่านหลักเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งถือเป็นกฎเหล็ก 4 ข้อคือ

1 สิ่งปลูกสร้างห้ามกีดขวางทางเดินเรือ สร้างต้องถูกสุขลักษณะความสะอาด และห้ามสร้างกีดขวางทางน้ำเปลี่ยนแปลงทางเดินของน้ำ

2.การสร้างต้องไม่เกินความจำเป็นและลมควร ให้เฉพาะอยู่อาศัย ตามความเหมาะสม

3 การอนุญาตสร้างลุกล้ำลำน้ำต้องไม่ขัดต่อกฎหมายผังเมืองและกฎหมายประมง

และ4 สิ่งล่วงล้ำลำน้ำนั้น ต้องมีสภาพเหมาะสมและปลอดภัยมั่นคงแข็งแรง

ทั้งหมดคือ เกณฑ์พิจารณา ทางกรมเจ้าท่าจะเห็นสมควรออกใบอนุญาตให้ แต่ถ้าผู้ครอบครองปลูกสร้างไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่กำหนด ทางกรมเจ้าท่าจะไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้อย่างแน่นอน

ทางกรมเจ้าท่ายังชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับใบอนุญาตที่ออกให้ เพื่อให้ชาวบ้านได้เข้าใจไปในทิศทางเดียวกันคือ สำหรับหนังสือที่กรมเจ้าท่าออกให้นั้น ไม่สามารถจะนำไปโต้แย้งสิทธิ์ในชั้นศาลได้ รวมถึง ให้ผู้ที่ได้รับหนังสือเจ้ากรมเจ้าท่าแล้ว ต้องนำไปทำให้ถูกต้อง , เจ้าท่าสามารถเพิกถอนใบอนุญาตในกรณีท่านฝ่าฝืนผิดกฎได้ทันที , ถ้าสิ่งปลูกสร้างเป็นอันตราย ทางเจ้าท่าสามารถ พิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตได้ ส่วนในกรณีที่รัฐบาลมีงบประมาณสร้างบ้านเอื้ออาทรให้ท่านแล้ว ก็สามารถเพิกถอนใบอนุญาตได้ , ห้ามโอนสิทธิ์ให้ผู้อื่นซื้อขาย ยกเว้นผู้สืบสันดานชอบด้วยกฎหมาย และ กรณีเจ้าท่าเพิกถอนใบอนุญาตแล้ว ต้องรื้อถอนทันที

ซึ่งในที่ประชุมรับทราบทั่วกัน และถ้าในกรณีบ้านเรือนที่ปลูกสร้างนั้น ได้รับการขึ้นทะเบียนหรือใบอนุญาตถูกต้องแล้ว จะต้องเสียภาษีตารางเมตรละ 5 บาทต่อปี