แบ่งปัน

16_04_19-11_58_09 16_04_19-11_58_22 16_04_19-11_58_31

ภาพ-ข่าว สัตหีบ

                สมภารวัดป่ายุบ พระนักพัฒนาที่ไม่เคยย่อท้อ แม้ขาเป็นอัมพฤกษ์ แต่แรงใจไม่เคยท้อถอย นั่งวีลแชร์พัฒนาบูรณะวัด หวังนำพาวัดสู่ความเจริญ จนกว่าสังขารโรยรา ชาวบ้านเลื่อมใสยกย่อง ถือเป็นต้นแบบสงฆ์ที่ดี  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเทศกาลวันไหล ประเพณีสงกรานต์ วัดป่ายุบ ม.5 ซ.บ่อนไก่ ต.สัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ได้ผ่านพ้นไป คงเหลือไว้เพียงความทรงจำ และสิ่งดีงาม ที่ชาวบ้านในพื้นที่ ได้ร่วมแรงร่วมใจกันสืบสานประเพณีที่ดี ให้ยังคงอยู่สืบทอดสู่อนุชนรุ่นหลัง

ด้วยงานวันนั้น มีประชาชนหลั่งไหลกันมาร่วมงานบุญเป็นจำนวนมาก ทำให้ได้เห็นภาพแห่งความดีงาม ที่สุดประทับใจ ของพระผู้เฒ่าวัย 60 ปี มีสถานะตำแหน่งเป็น เจ้าอาวาสชื่อว่า พระครูสังฆการบุรพทิศ ที่ล้มป่วยหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ทำให้ขาทั้ง 2 ข้าง ไม่สามารถเดินได้อย่างปกติ มานานกว่า 4 เดือน ใช้ชีวิตอยู่บนรถวีลแชร์ไฟฟ้า ที่ญาติโยมนำมาถวายให้ ในมือเหล็กแหลม ตามเสียบถุงพลาสติก และขยะมูลฝอย ที่ญาติโยมได้ทิ้งไว้เกลื่อนกลาดพื้นวัด นำไปลงสู่ถังขยะ ที่มีข้อความระบุว่า โปรดช่วยกันรักษาความสะอาด เพื่อให้วัดนั้นดูสะอาดตา อีกทั้ง ท่านยังนำประแจเลื่อน พร้อมอุปกรณ์ช่าง ลุงก้นจากรถเข็น ปีนขึ้นไปยืนบนเก้าอี้ เพื่อซ่อมแซมตัวฉีดน้ำให้ความชุ่มชื้นพื้นดิน จนแล้วเสร็จใช้งานได้ตามเดิม รวมถึงการออกตรวจตราบริเวณวัด ซึ่งภาพเหตุการณ์ดังกล่าว ได้ถูกปรากฏออกสู่สายตาญาติโยม จนเป็นภาพที่น่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งนัก ในฐานะพระนักพัฒนา รวมถึงผู้สื่อข่าวเอง ก็ได้แอบเก็บภาพแห่งความประทับใจนี้ไว้ เพื่อนำออกสู่สายตาประชาชนเช่นกัน

พระครูสังฆการบุรพทิศ เดิมเป็นพระลูกวัดวัดสัตหีบ จนได้ย้ายมาจำพรรษาเป็นเจ้าอาวาสวัดป่ายุบตั้งแต่ปี 2532 ขณะนั้นเต็มไปด้วยผืนป่า ไม่มีแม้โบสถ์ ยังไม่เจริญมีตึกรามบ้านช่องดังเช่นปัจจุบัน ด้วยความรักในพระพุทธศาสนา และมุ่งหวังจะให้วัดเกิดความเจริญ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของญาติโยม จึงได้พัฒนาบูรณะวัดตามสรรพกำลังที่มี กระทั่ง ในปี 2552 มีความมุ่งหวังจะให้วัดได้มีโบสถ์ไว้เป็นที่ประดิษฐานพระประธาน ตัวแทนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้ และเป็นที่ พระสงฆ์ประชุมทำสังฆกรรมตามพระวินัย จึงได้นำปัจจัยที่มีไม่มากนัก ริเริ่มก่อสร้างโบสถ์เรือนไม้สักทอง ที่มีมูลค่าการสร้างถึง 21 ล้าน ด้วยกำลังทุนทรัพย์ และปัญหาของผู้รับเหมา โบสถ์จึงยังไม่แล้วเสร็จ แต่ก็ได้เดินทางมาเกือบครึ่งทาง โดยที่หวังว่า ตราบยังมีลมหายใจ ประกอบกับหากมีบุญวาสนา ก็จะมีโอกาสได้เห็นโบสถ์หลังนี้เสร็จสมบูรณ์ และได้เห็นความเจริญของวัด ก่อนจะลาละสังขารไป