แบ่งปัน

ประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อสรุปผลการศึกษาโครงการ(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3)งานสำรวจและออกแบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายชลบุรี-หนองคาย ตอนชลบุรี(ท่าเรือแหลมฉบัง) ปราจีนบุรี(ทางหลวงหมายเลข 359)ตอน 1 ส่วนที่ 1


ที่ห้องประชุมเมืองท่าสำนักงานเทศบาลนครแหลมฉบัง มีนายนริศ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ปลัดอาวุโสอำเภอศรีราชา เป็นประธานเปิดรับฟังความคิดเห็นงานสำรวจออกแบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายชลบุรี-หนองคาย ในตอนที่ 1 ส่วนที่ 1 มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางหลวงหมายเลข 3 ถึงท่าเรือแหลมฉบังและบริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 3 ไปสิ้นสุดทางหลวงหมายเลข 331 ตำบลเขาคันทรง อำเภอศรีราชา ระยะทางรวม 20.94 กิโลเมตร คลุมพื้นที่จังหวัดชลบุรี 2 อำเภอ 6 ตำบล 2 หมู่บ้าน 18 ชุมชน กรมทางหลวงดำเนินโครงการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองด้วยความใส่ใจต่อประชาชนและคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ จึงกำหนดให้มีการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมกับประชาชนตลอดระยะเวลาการศึกษาและดำเนินโครงการ โดยมุ่งเน้นการให้ข้อมูลข่าวสาร แก่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างชัดเจน โปร่งใส พร้อมทั้งร่วมกันแสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะได้ทุกขั้นตอนของการศึกษา ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายชลบุรี หนองคาย เป็นหนึ่งในแนวเส้นทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ที่ถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทย ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2540 เนื่องจากเป็นเส้นทางที่มีความสำคัญสูงทางยุทธศาสตร์ตามแนวเศรษฐกิจเหนือไต้

    

ที่รองรับการเดินทางของประชาชนและภาคการขนส่งสินค้า สามารถเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึง สปป.ลาว ระยะทางประมาณ 600 กิโลเมตร โดยมีจุดเริ่มต้นบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ผ่านเมืองหลักของภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครราชสีมา จังหวัด ขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี และไปสิ้นสุดที่ จังหวัดหนองคาย บริเวณพรมแดนไทย-ลาว อันจะเป็นการส่งเสริมการกระจายโอกาสและนำความเจริญไปสู่ทุกภูมิภาค ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ กรมทางหลวงได้มุ่งเน้นถึงความสำคัญในการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการเพื่อนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้มาพิจารณาประกอบการศึกษาของโครงการให้เกิดการครอบคลุมทุกมิติ ประเด็นสำคัญให้มากที่สุด จึงได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับปรุงมาตราการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ถือเป็นการประชุมใหญ่ ครั้งที่ 3 เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาโครงการประกอบด้วยรูปแบบการพัฒนาทางหลวงพิเศษ การเชื่อมต่อกับโครงข่ายคมนาคมสายหลัก ที่พักริมทาง รูปแบบด่านเก็บค่าผ่านทาง การเชื่อมต่อคมนาคมท้องถิ่นและการออกแบบวิศวกรรมเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีคณะผู้บริหาร สมาชิกสภา หัวหน้าส่วนราชการและประชาชนที่มีส่วนได้เสียและเกิดผลกระทบในพื้นที่ของทั้ง 2 อำเภอ ร่วมประชุมเสนอข้อคิดเห็นกันอย่างเนืองแน่นห้องประชุม และมีบางชุมชนนำป้ายมายืนประท้วงไม่เอาโครงการเพราะมองว่าชุมชนของตนไม่ได้ประโยชน์มีผลเสียเกิดขึ้นมากมายในหลายๆด้าน อาทิ เกิดปัญหาจราจรติดขัดระหว่างการก่อสร้าง ปัญหาน้ำท่วมขัง การไปมาหาสู่กันระหว่างญาติพี่น้องทำได้ยากถึงแม้จะอยู่ในที่ดินแปลงเดียวกัน

ทางด้านผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแทนที่จะให้ความสำคัญกับปัญหาของชาวบ้านมาเป็นลำดับแรกแต่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากทางหลวงเส้นนี้ตัดผ่านชุมชนกลับมองว่ากรมทางหลวงให้ความสำคัญกับเขาเป็นลำดับสุดท้าย ชาวบ้านมองว่าผู้ที่มาออกแบบสำรวจเส้นทางปกปิดข้อมูลที่ชาวบ้านควรได้รับรู้มากว่า 3 ปีทำให้ชาวบ้านตั้งตัวไม่ทันบางท่านแสดงความรู้สึกว่าอยู่ตรงนี้มาจนอายุ 80 หวังจะให้ที่เป็นมรดกลูกหลานกับต้องมาถูกทางหลวงเวณคืนมันไม่ยุติธรรมเขาจะไม่ยอมสุดท้ายจะไปร้องศาลปกครองก็ต้องทำกัน..