แบ่งปัน

500473  500474

500475  500476

กทท.เปิดเวทีระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วนร่วมพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3
ที่ห้องชลาลัย โรงแรมชลจันทร์ พัทยารีสอร์ท เรือโท ยุทธนา โมกขาว ผู้ช่วยผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบังให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้ที่มีส่วนได้เสีย ในการปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม และออกแบบรายละเอียดสำหรับการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 ซึ่งการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูลรายละเอียดโครงการ ขอบเขตการดำเนินงาน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โดยมีผู้ที่สนใจทั้งจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน สถาบันศึกษา ตลอดจนตัวแทนภาคประชาชนและสื่อมวลชนในพื้นที่เข้าร่วมงานกว่า 200 คน
การสัมมนาครั้งนี้ เป็นการนำเสนอขอบเขตและแนวทางการดำเนินงานในพื้นที่ ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่พัฒนาโครงการที่ตั้งอยู่ติดกับท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 2 ที่ได้ประกาศเป็นเขตท่าเรือแหลมฉบังเมื่อปี 2539 นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ภายในรัศมี 5 กิโลเมตร รอบที่ตั้งโครงการ ครอบคลุมเทศบาลนครแหลมฉบัง อ.ศรีราชา เทศบาลตำบลบางละมุง และเทศบาลตำบลตะเคียนเตี้ย อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยอ้างอิงแนวทางการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วันที่ 29 ธันวาคม 2552 และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการประเภทท่าเทียบเรือของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ) พ.ศ.2541 สำหรับมาตรการป้องกันแก้ไขและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแสดล้อมและสุขภาพ รวมถึงขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ที่เป็นประเด็นสำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การติดตั้งม่านกันตะกอน การจัดการน้ำเสีย การลดผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่ง การป้องกันการทับถมของตะกอนทรายการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่ออาชีพการจ้างาน สภาพการทำงานในท้องถิ่น ทั้งทางบวกและทางลบ การชดเชยการสูญเสียรายได้จากการประกอบอาชีพของกลุ่มประมง การเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของประชาชนและชุมชน 
หากการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 แล้วเสร็จ จะทำให้ท่าเรือแหลมฉบังสามารถรองรับปริมาณตู้สินค้ารวมทั้งสิ้นได้ไม่ต่ำกว่า 18 ล้านทีอียูต่อปี ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านการขนส่งทางทะเล และกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งแบบ Multimodal Transport (MT) และศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียนในอนาคต รวมทั้งเป็นการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนของประเทศให้เพิ่มมากขึ้น โดยประชาชนที่สนใจข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดตามได้ทางwww.laemchabangportphase3.com

ในส่วนของ นาย บุญมา ฝังรัก ประธานชุมชนบ้านโรงไม่ขีด เมืองพัทยา ได้กล่าวว่า การสร้างท่าเรือเฟด 1 เฟด 2 ชาวบ้านก็ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว แต่มาเพิ่มเฟด 3และจะมีเฟด 4 ตามมาผลกระทบนั้นมีมากมาย แหล่งอนุบาลสัตว์เล็กถ้ามีน้ำเสียมาตายหมด หลายๆอย่างที่จะเกิดกับชุมชน ซึ่งตะกอนเหล่านี้ไม่เคยเกิด มันเกิดหลังจากที่มีท่าเรือ และภายใน 50 ปี 100 ปี ตะกอนเหล่านี้จะไหลไปที่ชายหาดพัทยา จะเป็นอย่างไร ถ้ามันเกิดแล้วมันแก้ไม่ได้ โดยจะฝากถึงเจ้าของโครงการสิ่งที่มันจะเกิดในวันข้างหน้า มันหนีไม่พ้นกับการเจริญเติบโตของประเทศมันจะต้องเกิด แต่อยากให้ถามคนท้องถิ่นและให้คนท้องถิ่นมีส่วนร่วมแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่แต่นักวิชาการเป็นคนพื้นที่อื่นไม่รู้ระบบนิเวศท้องถิ่นเอาแต่ทฤษฎีมาพูด มันแก้ไม่ได้ 
และในส่วนที่มีใบปลิวที่ได้มีการแจกจ่ายก่อนที่จะมีการรับฟังความคิดเห็นนั้น ทาง เรือโทยุทธนา โมกขาว ผู้ช่วยผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวอีกว่า ทางท่าเรือจัดประชุมวันนี้ก็เพื่อรับฟังความคิดเห็นอยู่แล้ว เรามาฟังทุกความคิดเห็น อันนี้ก็เหมือนกับเป็นข้อเสนอแนะและคำชี้แนะให้เราพึ่งระหว่างในเรื่องต่างๆเหล่านี้ที่จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นก็เป็นเสียงสะท้อนหนึ่งที่กลับมาสู่ท่าเรือด้วย ว่าเราจะเตรียมความพร้อมรับปัญหาต่างๆเหล่านี้ยังไง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดในอนาคตแต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่แล้วด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่าทำไงที่มีอยู่ในใบปลิวสามารถได้รับการแก้ไขตั้งแต่วันนี้ วิธีแก้คงไม่ใช่ท่าเรือแหลมฉบังที่เดียว แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกคนเพื่อแก้ไขปัญหา