แบ่งปัน

12832523_1567978083520485_1438870910394962699_n 12832380_1567978130187147_7873900217700876810_n

ภาพ/ข่าว  วาสนา

ถกเครียดปัญหาสะพานลอยคนพิการ หลังผู้ประกอบการยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างอ้างความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ด้านรองนายกฯ ดันให้ทุกฝ่ายเดินเครื่องดำเนินการยอมรับเป็นคู่กรณีหากมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนหมู่มากและคนพิการ
(14 ก.พ.59) ตามที่กรมทางหลวงชนบท ได้ขอใช้พื้นที่สำหรับก่อสร้างสะพานลอยคนข้าม จำนวน 2 จุด เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและนักท่องเที่ยว บริเวณหน้าโรงเรียนเมืองพัทยา 5 และหน้าศูนย์พระมหาไถ่ พัทยา ซึ่งในขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดจุดการก่อสร้างสะพานลอยคนข้ามได้เนื่องจาก มีการร้องเรียนขอให้เมืองพัทยาพิจารณาการก่อสร้างสะพานลอยคนข้ามไม่ให้ปิดกั้นทางเข้า-ออก โดยบริษัท พัทยามันนี่ เซอร์วิส จำกัด โดยเป็นผู้ประกอบการโรงรับจำนำเมืองพัทยา ได้มีหนังสือถึงเมืองพัทยา ลงวันที่ 7 มีนาคม 2559 ขอคัดค้านการกำหนดจุดก่อสร้างสะพานลอยคนข้าม จึงได้มีการประชุมแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเชิญตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประกอบด้วย เมืองพัทยา ตัวแทนชุมชน 4 ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ กรมทางหลวงชนบท และตัวแทนจากบริษัท พัทยามันนี่ เซอร์วิส จำกัด ตัวแทนจากบริษัท พัทยามันนี่ฯ ชี้แจงว่า สาเหตุที่คัดค้านการก่อสร้างสะพานคนข้าม เนื่องจากได้มีการประชุมบอร์ดของบริษัทฯ ในเรื่องของความปลอดภัย เนื่องจากจุดที่ตั้งสะพานลอยดังกล่าว จะเป็นช่องทางให้เหล่ามิจฉาชีพอาศัยเป็นช่องทางซุ่มดูถึงความเป็นไปในการเข้าออกการใช้บริการของโรงรับจำนำ ซึ่งแต่ละวันมีผู้เข้าไปใช้บริการนับพันราย ดังนั้นทรัพย์สินย่อมต้องมากตามไปด้วย นอกจากนั้นบริเวณดังกล่าวยังมีสำนักงานสถาบันการเงินอีก แห่ง ดังนั้นทางบริษัทฯ จึงขอคัดค้านการสร้างสะพานลอยคนข้ามบริเวณดังกล่าว –
ซึ่งในเรื่องนี้ในที่ประชุมได้พยายามพูดไกล่เกลี่ยให้ทางบริษัทฯ ได้เห็นถึงความจำเป็นของการสร้างสะพานลอยบริเวณดังกล่าว ใช้วิจารณญาณที่ถูกต้องในการที่จะอยู่ร่วมกันในสังคม โดยเฉพาะเพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนพิการ รวมไปถึงประชาชนทั้ง 4 ชุมชนที่จะได้รับประโยชน์กับการก่อสร้างสะพานลอยแห่งนี้ หากยังมีการคัดค้านไม่ให้ก่อสร้างสะพานลอยคนข้าม ก็จะได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก เนื่องจากงบประมาณก็ผ่านการอนุมัติแล้ว ซึ่งในเรื่องดังกล่าว นิติกรเมืองพัทยาได้เสนอความคิดเห็นว่า ตามหลักการแล้วสามารถทำได้ โดยให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์ของประชาชนในพื้นที่ทั้ง 4 ชุมชน ที่มีความจำเป็นต้องใช้ โดยอยู่บนหลักการดำเนินการที่เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมมากที่สุด และให้เกิดความเสียหายกับเอกชนน้อยที่สุด จากแบบแปลนจะเห็นได้ว่าทางขึ้นลงทั้งสองด้านจะเป็นเขตทางสาธารณะอยู่ในแนวฟุตบาทไม่ได้มีปัญหาในเรื่องของการส่งมอบพื้นที่ เพราะฉะนั้นสามารถดำเนินการได้เลย และที่ผ่านมาการออกแบบในการของบประมาณเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่โรงรับจำนำจะมาตั้ง แต่เนื่องจากขั้นตอนการของบประมาณของทางราชการต้องเป็นไปตามขั้นตอน ทำให้การอนุมัติงบประมาณล่าช้าออกมาในปี 2558 
ด้านนายรณกิจ รองนายกเมืองพัทยา มอบหมายให้นิติกรเมืองพัทยารวบรวมเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ไปปรึกษาด้านกฎหมายว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่อย่างไร เนื่องจากถือประโยชน์ของสาธารณะเป็นสำคัญ และหากมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองเมืองพัทยายินดีรับเป็นคู่กรณี ทั้งนี้เพื่อให้กรมทางหลวงชนบทเจ้าภาพหลักทำงานได้อย่างสบายใจอีกด้วย และให้เป็นไปตามกำหนดสัญญาว่าจ้างว่าจะต้องแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ ด้วยงบประมาณการก่อสร้าง 9 ล้านบาทเศษ