แบ่งปัน

ที่ห้องชลาลัย โรงแรมชลจันทร์ พัทยา รีสอร์ท ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง เป็นประธานเปิดงานเสวนาระดมความคิดเห็น ในหัวข้อ “การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังอย่างยั่งยืน” เพื่อนำเสนอข้อมูลแผนการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมโดยรอบท่าเรือแหลมฉบัง รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โดยมีผู้สนใจทั้งจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนตัวแทนภาคประชาชนและสื่อมวลชนในพื้นที่ เข้าร่วมงานกว่า 300 คน
การเสวนาครั้งนี้ได้นำเสนอแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยรอบท่าเรือแหลมฉบังในทุกโหมดการเดินทาง ทั้ง ระบบราง ระบบถนน และทางทะเล ภายใต้กรอบการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมระยะเวลา 5 ปี ผ่านตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นางสิริมา หิรัญเจริญเวช ด้านผู้แทนจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นำเสนอการพัฒนาการขนส่งระบบรางในพื้นที่ภาคตะวันออก เช่น โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หนองคาย-มาบตาพุด นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอมุมมองของภาคประชาชนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง โดย ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการอิสระ เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ด้านการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เรือโทยุทธนา โมกขาว ผู้ช่วยผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง ได้นำเสนอสาระสำคัญเกี่ยวกับแผนการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะเวลา 5 ปี โดยมีโครงการที่สำคัญ อาทิ โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง(ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างและจัดหาเครื่องมือยกขนคาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการได้ภายใน พ.ศ. 2561 สามารถรองรับตู้สินค้าได้ 300,000 TEU/ปี โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งสินค้าทางรถไฟ (Rail Transfer Terminal) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือในการยกตู้สินค้าขึ้นลงรถไฟ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี พ.ศ.2561 และจะพัฒนาโครงการในระยะที่ 2 ประมาณ พ.ศ. 2564-2565 โครงการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรภายในท่าเรือแหลมฉบัง โดยเพิ่มช่องทางผ่านประตูตรวจสอบสินค้าและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะทำให้มีจำนวนช่องทางผ่านประตูตรวจสอบสินค้ารวม 31 ช่องทาง สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ที่ระดับ10-11 ล้าน TEU/ปี ทั้งนี้ ท่าเรือแหลมฉบังได้รับการยอมรับให้เป็นท่าเรือที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยใน พ.ศ. 2557 ท่าเรือแหลมฉบังมีตู้สินค้าผ่านมากที่สุดถึง 6.45 ล้าน TEU ถือเป็นอันดับที่ 23 ของโลก และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี ส่งผลให้ ในปี พ.ศ. 2565 จะมีปริมาณสินค้าสูงถึง 9 ล้าน TEU ซึ่งหากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยรอบท่าเรือแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2564 ท่าเรือแหลมฉบังก็จะสามารถรองรับการขยายตัวดังกล่าวได้ ที่สำคัญท่าเรือแหลมฉบังจะกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบและศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

ภาพ/ข่าว วสุพล